จากเด็กเข็นของสำเพ็ง สู่เศรษฐีเบอร์ 1 ไทย : เจ้าสัวเบียร์ช้าง เจริญ สิริวัฒนภักดี

จุดเปลี่ยนชีวิตเริ่มในวัย 17 ปี เมื่อเขาได้เข้าเป็นลูกจ้างร้านส่งสุรา หากวันนั้นเขาปฏิเสธอาชีพนี้ อาจไม่มีมหาเศรษฐีที่ชื่อ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" และไม่มีเบียร์ช้างให้เราดื่มกัน

นิตยสารส์ฟอร์บส์ ได้จัดอันดับมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก ประจำปี 2561 ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น นายเจริญ สิริวัฒนภักดี วัย 73 ปี แห่งอาณาจักรเบียร์ช้าง ยังครองอันดับ 1 ด้วยทรัพย์สิน 17,900 ล้านดอลลาร์ รั้งอันดับที่ 65 ของโลก สินทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่า 2,100 ล้านดอลลาร์

ตลอดชีวิตการทำงาน 61 ปี เจริญ สิริวัฒนภักดี หรือ "โซวเคียกเม้ง" ผลักดันชีวิตตนเองอย่างต่อเนื่อง หลังปัญหาความยากจนรุมเร้าให้ต้องลาออกจากการเรียนที่โรงเรียนเผยอิง เมื่อจบชั้นประถม 4 ในวัย 11 ปี ลูกชายของคนขายหอยทอดในซอยติดโรงเรียน ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีน เริ่มงานแรกในชีวิตตนเอง คือเป็นคนรับจ้างเข็นของในตลาดสำเพ็ง ทรงวาด

จากพื้นเพที่คุณพ่อ คือนายติ่งเลี้ยง แซ่โซว ชาวจีนแต้จิ๋ว มีอาชีพขายหอยทอดอยู่แล้ว ทำให้ชีวิตในวัยเรียนที่โรงเรียนเผยอิง เขามีหัวทางด้านค้าขาย ได้เรียนรู้ที่จะนำขนม สิ่งของ เล็กๆ น้อยๆ เข้าไปขายให้แก่เพื่อนในโรงเรียนด้วย

การเป็นเพียงลูกจ้างธรรมดาๆ อนาคตเขาคงไม่สามารถเลี้ยงดูบุพการียามแก่เฒ่าได้แน่ แต่อาชีพแรกนี้ก็สร้างประสบการณ์กับเขาได้พอสมควร ความขะมักเขม้น และไม่ยอมหยุดอยู่กับที เขาได้เปลี่ยนมาเป็นพ่อค้าหาบของขาย และในปีที่ 6 ของการทำงาน เขาได้เป็นลูกจ้างของร้านย่งฮะเส็ง และห้างหุ้นส่วนจำกัด แพนอินเตอร์ ที่จัดส่งสินค้าให้โรงงานสุราบางยี่ขัน ที่เป็นเจ้าของแบรนด์สุราสี "แม่โขง" นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต

การได้เป็นลูกจ้างติดต่อกับห้างร้านต่างๆ และโรงงานสุรา ความเฉลียวฉลาดและรู้จักมองช่องทางการตลาด ในปี 2505 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงปีเดียวที่ได้เข้าสู่วงการขายส่งสุรา เขาได้เป็น ”ซัพพลายเออร์” ให้โรงงานสุราบางยี่ขันเอง นำมาสู่การรู้จักกับนายจุล กาญจนลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญการปรุงรสสุรา โดยเฉพาะสูตร ”แม่โขง” และคุ้นเคยกับเจ้าสัว เถลิง เหล่าจินดา แห่งกลุ่มสุราทิพย์ ผู้มีอำนาจในการจัดซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างของโรงงาน เขากลายเป็นขุนพลคู่ใจของเจ้าสัวเถลิงในเวลาไม่นาน เพราะความอ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ ทำให้กลายเป็นหุ้นส่วน ได้รับการถ่ายทอดกลยุทธ์ และเคล็ดลับในการทำธุรกิจสุรา

จากหุ้นส่วนธรรมดาๆ คนหนึ่ง เขายกระดับตัวเองต่อเนื่อง จนมีอำนาจมากขึ้นในทางธุรกิจร่วมกับเจ้าสัวเถลิง และจากความขยัน เฉลียวฉลาด มองการณ์ไกล ทำให้ "วรรณา" บุตรสาวเจ้าสัวกึ้งจู แซ่จิว เกิดความประทับใจในตัวเขา ก่อเกิดเป็นความรัก ซึ่งทางเจ้าสัวกึ้งจู ก็เห็นดีเห็นชอบด้วย จนทำให้ได้แต่งงานกันในที่สุด

หลังกลายเป็นครอบครัวเดียวกับ เจ้าสัวกึ้งจู ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการเงินที่กว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นเพื่อนกับเจ้าสัวชิน โสภณพณิช แห่งธนาคารกรุงเทพ ทำให้เขาได้รับการเกื้อกูลทางการเงิน จนได้เทคโอเวอร์ธุรกิจแรก นั่นคือ "ธาราวิสกี้” ของบริษัทไทยน้ำทิพย์ ที่ขณะนั้นกำลังประสบภาวะขาดทุน และเจ้าสัวเจริญได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น "แสงโสม" ในปัจจุบัน

ในวัย 35 ปี ขณะนั้น เขาคือเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จทุกด้านคนหนึ่งแล้ว แต่ไม่หยุดเท่านั้น โดยได้เข้ารับช่วงต่อธุรกิจสุราจากเจ้าสัวเถลิง เพื่อแย่งชิงตลาดจาก กลุ่มสุรามหาราษฎร ของตระกูลเตชะไพบูลย์ โดบใช้เวลา 5 ปีจึงเทคโอเวอร์ได้สำเร็จในปี 2530 อีกทั้งพ่อตาตนเองยังเข้ายึดครองกิจการบริษัทเงินหลักทรัพย์จากตระกูลเตชะไพบูลย์อีกสายหนึ่งด้วย ณ เวลานี้ ถือว่าธุรกิจของครอบครัวเจ้าสัวเจริญเติบโตอย่างสุดขีด ได้ครองกิจการ การเงิน ทั้งธนาคารและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ ทั้งๆ ที่ธุรกิจการธนาคารสำหรับสังคมไทยนั้นปิดตายสำหรับคนนอกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และทำให้เขาได้รับพระราชทานนามสกุล "สิริวัฒนภักดี" ในปี 2531 หลังจากครั้งแรกนั้นใช้นามสกุล "ศรีสมบูรณานนท์"

แต่เดิมนั้น บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ของ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ได้ขอจัดตั้งบริษัทผลิตเบียร์ขึ้นในปี 2473 โดยใช้ปลายข้าว แทน มอลต์ ทำการผลิตเบียร์ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 2477 ภายใต้เครื่องหมายการค้าต่างๆ คือ ตราหมี, ตราสิงห์แดง, ตราสิงห์ขาว, ตราแหม่ม, ตราพระปรางค์ทอง, ตราว่าวปักเป้า, ตรากุญแจ, ตรารถไฟ และ ที่ยังคงอยู่จนปัจจุบันนี้คือ ตราสิงห์ ก่อนที่ในปี 2504 จะมีโรงเบียร์แห่งที่สองเกิดขึ้น คือ บริษัทบางกอกเบียร์ ผลิตเบียร์ตราหนุมาน, ตราแผนที่ และตรากระทิง และในปี 2509 จึงได้เปลี่ยนเจ้าของกิจการและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผลิตเบียร์อมฤต และซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อเบียร์จากต่างประเทศชื่อ คลอสเตอร์ มาผลิตเมื่อ 2521

ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีโรงงานเบียร์แห่งที่สองแล้ว ภาครัฐก็ไม่ได้มีการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานเพิ่ม เนื่องจากเห็นว่าเบียร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และตั้งกำแพงภาษีเพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ผลิตในประเทศ จนกระทั่ง พ.ศ. 2535 ภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า โดยการเปลี่ยนเงื่อนไขของผู้ผลิตเบียร์ จากที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศ

และนี่ทำให้เจ้าสัวเจริญ ได้จัดตั้ง "เบียร์ช้าง" ด้วยความร่วมมือจากบริษัทคาร์ลสเบอร์ก บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีความชำนาญการผลิตเบียร์ และวางจำหน่ายในปี 2538 ปัจจุบันมีโรงงาน 3 แห่ง คือ บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด (มหาชน) จังหวัดกำแพงเพชร, บริษัท เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ (1991) จำกัด อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธย และบริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนเป็นเครื่องดื่มที่คุ้นตาคุ้นปากชาวไทย

ธุรกิจสุรา และ เบียร์ ของเจ้าสัวเจริญ มีแนวคิดการทำงานจากพื้นฐานชีวิตเดิม แม้ว่าระบบสัมปทานแบบเดิมกำลังจะปิดฉากลง แต่เขาก็สามารถใช้เครือข่ายการค้าแบบเดิม ซึ่งฝังรากในตลาดล่างกับเครือข่ายการค้า ในชุมชนซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายการค้าที่เข้มแข็งที่สุดเครือข่ายหนึ่งในสังคมไทย ภายใต้ระบบเอเย่นต์ และระบบขายพ่วง (สุราพ่วงเบียร์ สุราพ่วงโซดา) ซึ่งเสริมกับค้าสุราได้อย่างกลมกลืน ภายใต้โครงสร้างการแข่งขันที่ดุเดือดของธุรกิจนี้ นำเอาโมเดลการค้าสุรามาทำให้ความสามารถในการแข่งขันอยู่ได้ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเบียร์ช้าง เป็นคู่แข่งทางการตลาดของเบียร์สิงห์โดยตรง ซึ่งต่อมาเบียร์ช้าง พยายามจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2548 แต่ถูกต่อต้านอย่างหนัก จึงหันไปสู่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แทน

นอกจากธุรกิจน้ำเมา ที่เป็นต้นทุนเดิมของชีวิต และธุรกิจการเงินของพ่อตา เจ้าสัวเจริญยังได้เข้าซื้อกิจการกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล ที่มีโรงแรมในเครือจำนวนมากจากนายอากร ฮุนตระกูล และจากนั้นก็ขยายธุรกิจอย่างไม่เคยหยุดยั้ง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เช่น การเทคโอเว่อร์ โออิชิ กรุ๊ป ของ ตัน ภาสกรนที, หุ้นยูนิเวนเจอร์ (UV), ตึกเนชั่น, บริษัทเสริมสุข, หุ้นบิ๊กซี, อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, เอเชียทีค ทำให้มีผลิตภัณฑ์ภายใต้กิจการของเจ้าสัวเจริญ ที่พบเห็นกันบ่อยเป็นประจำ อาทิ โออิชิ, เบียร์ช้าง, สุราแสงโสม, Blend285, แรงเยอร์, est และอีกมากมาย รวมถึงกิจการในสหรัฐอเมริกา ทำให้เขามีทรัพย์สินทวีมูลค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะขึ้นหรือลงก็ตาม

ความมุมานะ เข้าใจจังหวะ และตอบรับโอกาส ได้สร้างผู้ชายที่ชื่อ "เจริญ สิริวัฒนภักดี"

ความคิดเห็น